วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ผลการประชุมเกี่ยวกับแท็บเล็ตเพื่อการศึกษา

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
 
ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบาย ๑ แท็บเล็ต ต่อ ๑ นักเรียน ครั้งที่ ๗

ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบาย ๑ คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ ๑ นักเรียน ครั้งที่ ๗/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๕ ที่ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้

•การกำหนดร่างขอบเขตของงาน TOR แท็บเล็ตสำหรับครูใช้ในการเรียนการสอนนักเรียนชั้น ป.๑

ที่ประชุมอนุมัติให้คณะกรรมการกำหนดร่างขอบเขตของงาน TOR แท็บเล็ตสำหรับนักเรียน รับผิดชอบการกำหนดร่างขอบเขตของงาน TOR แท็บเล็ตสำหรับครู เพื่อใช้ในการเรียนการสอนของนักเรียนชั้น ป.๑ ซึ่งมีข้อแตกต่างจากแท็บเล็ตของนักเรียน คือ มีสาย USB เพื่อเชื่อมโยงไปยังจอ Projector โดยให้คณะกรรมการไปจัดทำกำหนดคุณลักษณะ และกระบวนการจัดซื้อ เสนอขอความเห็นชอบจาก รมว.ศธ.และส่งต่อไปยังกระทรวง ICT เพื่อดำเนินการต่อไป 





•ผลการตอบรับการใช้แท็บเล็ต

ที่ประชุมรับทราบผลการตอบรับจากผู้ใช้แท็บเล็ตและผู้เกี่ยวข้อง ทั้งจากผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ในส่วนของ สพฐ. และ สช. ซึ่งครูส่วนใหญ่พอใจต่อการใช้งานแท็บเล็ต ไม่ว่าจะเป็น Content, Application เพราะสามารถใช้งานได้ง่ายและเกิดประโยชน์ในการเรียนการสอน อีกทั้งนักเรียนยังให้ความสนใจและให้การตอบรับที่ดี สำหรับการจัดอบรมครูผู้สอน ทาง สพฐ.และ สช.อบรมโดยใช้วิทยากรร่วมกันทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งในกรุงเทพฯ จัดอบรมแล้ว ๖ รุ่น กว่า ๖๐๐ คน โดยวิทยากรได้นำแผนการสอนของครูมาใช้ควบคู่กับแท็บเล็ตในการเรียนการสอนวิชา ต่างๆ ด้วย



•การจัดส่งและลงทะเบียน

ที่ประชุมรับทราบข้อมูลการจัดส่งและการลงทะเบียนแท็บเล็ต ณ วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๕ ซึ่ง สพฐ.ได้นำส่งแท็บเล็ตทั้งหมด ๔ รอบใน ๕๕ จังหวัดใน ๑๓๓ เขตพื้นที่การศึกษา จำนวน ๒๙๑,๗๗๖ เครื่อง และคาดว่าในต้นเดือนกันยายนจะสามารถส่งแท็บเล็ตรอบสุดท้าย จำนวน ๑๐๖,๒๒๔ เครื่องใน ๒๒ จังหวัด ๕๐ เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งจะทำให้นักเรียนได้รับแท็บเล็ตจำนวนกว่า ๔๐๐,๐๐๐ เครื่องครอบคลุมทุกเขตพื้นที่การศึกษาใน ๗๗ จังหวัด สำหรับส่วนที่เหลืออีกกว่า ๔๐๐,๐๐๐ เครื่องจะทยอยจัดส่งตามมา



•การซ่อมบำรุง และ Call Center

ที่ประชุมรับทราบข้อมูลการเปิดศูนย์ซ่อมบำรุงของบริษัทเสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก ดีเวลลอปเมนต์ จำนวน ๑๑๔ สาขา ซึ่งมีขั้นตอนการส่งซ่อม ๒ ช่องทาง คือ ส่งซ่อมที่โรงเรียน จากนั้นโรงเรียนจะรวบรวมส่งศูนย์ หรือส่งซ่อมเองที่ศูนย์ซ่อมบำรุง หรือจะส่งทางไปรษณีย์ก็ได้ โดยต้องกรอกข้อมูลในใบนำส่งซ่อมประกอบการซ่อมด้วย นอกจากนี้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (TOT) ได้เปิดบริการ Call Center หมายเลข ๑๑๑๑ กด ๘ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการใช้แท็บเล็ตของนักเรียน ป.๑ ตั้งแต่วันที่ ๗ มิถุนายนเป็นต้นมา โดยให้บริการข้อมูลของโครงการ การจัดส่ง ให้คำแนะนำการใช้งานแท็บเล็ตและข้อมูลต่างๆ รวมถึงการรับเรื่องร้องเรียนและรับข้อเสนอแนะ



•การประกวดสื่อเรียนรู้ สู่แท็บเล็ต

ที่ประชุมรับทราบการจัดประกวดสื่อเรียนรู้สำหรับแท็บเล็ต เพื่อส่งเสริมให้มีสื่อที่มีคุณภาพ สนับสนุนและกระตุ้นให้ประชาชนและภาคเอกชนพัฒนาสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบ Application บนระบบปฏิบัติการ Android เพื่อนำไปเป็นสื่อการเรียนการสอนบรรจุลงในแท็บเล็ตและคลังสื่อ (Edu Store) ต่อไป โดยได้เปิดโอกาสให้ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ และนิติบุคคล ส่งผลงานเข้าประกวดใน ๒ ประเภท ได้แก่ Application เพื่อการเรียนรู้ เนื้อหาเสริมการเรียน (Content) เกมส์ฝึกหรือเสริมการเรียน (Game) และเครื่องมือสร้างองค์ความรู้ (Tool) และหน้า Homepage ของ Edu Store ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวม Application เพื่อการเรียนรู้สำหรับใช้งานร่วมกับแท็บเล็ตที่นักเรียนและผู้ใช้สามารถ download มาใช้งานได้ฟรี ผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับใบสมัครได้ที่ สพฐ. ศธ. หรือสมัครทางเว็บไซต์ www.techno.bopp.go.th  และ www.obec.go.th  ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๕ โดยจะมีโล่และเงินรางวัลมอบให้สำหรับผู้ชนะการประกวดด้วย


•การขยายระบบเครือข่าย

ที่ประชุมรับทราบแผนการปรับปรุงประสิทธิภาพสื่อสัญญาณที่ใช้เชื่อมโยงกับ แท็บเล็ตในปี ๒๕๕๖ ซึ่ง TOT ร่วมกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้พัฒนาและขยายระบบเครือข่ายทั้งในรูปแบบ Fiber Optic, ADSL/Winet และ Satellite จากเดิมครอบคลุม ๑๐,๙๙๖ โรงเรียน ให้ครอบคลุมถึง ๓๐,๖๒๗ โรงเรียน ภายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖


•การติดตามและทดสอบโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการใช้แท็บเล็ต

ที่ประชุมรับทราบผลการติดตามและทดสอบโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT เพื่อสนับสนุนการใช้แท็บเล็ตในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีของ สพฐ. เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ให้สามารถใช้แท็บเล็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดช่องว่างความแตกต่าง โดยจัดทดสอบในโรงเรียน ๓ กลุ่ม คือ โรงเรียนในเมืองที่มีระบบ Fiber Optic โรงเรียนชานเมืองที่มีระบบ ADSL และโรงเรียนชนบทที่ใช้ระบบ Satellite ซึ่งพบว่ โรงเรียนที่ใช้ระบบ Fiber Optic และ ADSL สามารถใช้งาน Access Point เพื่อใช้แท็บเล็ตและเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ดี แต่โรงเรียนที่ใช้ระบบ Satellite ยังมีปัญหา


ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2012/aug/232.html